สังเขปแห่งประวัติการจัดพิมพ์และคดีความ ของ “ฤทธิ์มีดสั้น” โดย ว. ณ เมืองลุง

Last updated: 22 ส.ค. 2564  |  3416 จำนวนผู้เข้าชม  | 

สังเขปแห่งประวัติการจัดพิมพ์และคดีความ ของ “ฤทธิ์มีดสั้น” โดย ว. ณ เมืองลุง

โก้วเล้ง (พ.ศ.2481-2528) เป็นนักเขียนนิยายกำลังภายในชาวไต้หวัน ประพันธ์เรื่อง ตอเช้งเกี่ยมแขะ บ้อเช้งเกี่ยม บอกเล่าเรื่องราวพฤติการณ์หาญกล้า คุณธรรมล้ำลึกของยอดมือกระบี่นาม “ลี้คิมฮวง” และ “อาฮุย” บทประพันธ์เรื่องนี้ทยอยตีพิมพ์เป็นตอน ๆ ในนิตยสารกำลังภายในชื่อ ชุนชิว ระหว่าง พ.ศ. 2511-2513  "ว. ณ เมืองลุง" (นามปากกาของนายชิน บำรุงพงศ์) นำผลงานดังกล่าวมาแปลเป็นภาษาไทย ตั้งชื่อเรื่องว่า ฤทธิ์มีดสั้น ซึ่งนับเป็นงานแปลที่สร้างชื่อเสียงและความสำเร็จสูงสุดในชีวิตนักแปลของ ว. ณ เมืองลุง มีรายการจัดพิมพ์ดังต่อไปนี้

  • พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ. 2514 โดยสำนักพิมพ์ประพันธ์สาส์น รูปเล่ม 16 หน้ายกธรรมดา ปกอ่อน

  • พิมพ์ครั้งที่ 2 ประมาณ พ.ศ. 2516-2517 โดยสำนักพิมพ์ประพันธ์สาส์น รูปเล่มปกแข็ง

  • พิมพ์ครั้งที่ 3 และ 4 พ.ศ. 2519 และ 2527 ตามลำดับ โดยสำนักพิมพ์บรรณาคาร

  • พิมพ์ครั้งที่ 5 พ.ศ. 2533 โดยสำนักพิมพ์สื่อสัจจา รูปเล่ม 16 หน้ายกพิเศษ ปกกระดาษสา เนื้อในกระดาษปอนด์ สันปกร้อยเชือก 3 เล่มจบ บรรจุกล่อง

  • พิมพ์ครั้งที่ 6 พ.ศ. 2536 โดยสำนักพิมพ์สร้างสรรค์-วิชาการ รูปเล่มขนาด 16 หน้ายกพิเศษ กระดาษปอนด์ 3 เล่มจบบรรจุกล่อง เป็นฉบับที่มีการสอบทานใหม่ โดยเทียบเคียงกับต้นฉบับพิมพ์ครั้งที่ 2

  • พิมพ์ครั้งที่ 7 พ.ศ. 2539 โดยสำนักพิมพ์ประพันธ์สาส์น รูปเล่มขนาด 16 หน้ายกพิเศษ กระดาษปอนด์ 3 เล่มจบ บรรจุกล่อง

  • พิมพ์ครั้งที่ 8 พ.ศ. 2543 ในหนังสือพิมพ์อาทิตย์วิเคราะห์รายวัน

  • พิมพ์ครั้งที่ 9 พ.ศ. 2544 โดยสำนักพิมพ์พระอาทิตย์ รูปเล่มขนาด 16 หน้ายกพิเศษ กระดาษปอนด์ 3 เล่มจบ บรรจุกล่อง

  • พิมพ์ครั้งที่ 10 พ.ศ. 2549 โดยบริษัทสร้างสรรค์บุ๊คส์ จำกัด รูปเล่มขนาด 16 หน้ายกพิเศษ กระดาษถนอมสายตา 3 เล่มจบ บรรจุกล่อง 

นอกจาก ฤทธิ์มีดสั้น แล้ว  ในช่วงเวลาที่ ว. ณ เมืองลุง แปลงานของโก้วเล้ง (พ.ศ. 2510-2522) ยังได้แปลเรื่องอื่น ๆ คือ เซียวฮื้อยี้ ดาบจอมภพ เหยี่ยวเดือนเก้า จอมดาบหิมะแดง จอมโจรจอมใจ ใต้เงามัจจุราช ราศีดอกท้อ ชอลิ่วเฮียง พยัคฆ์ร้ายบู๊ลิ้ม พิฆาตทรชน นักสู้ผู้พิชิต ศึกเสือหยกขาว กระบี่อมตะ เดชขนนกยูง และไม่มีน้ำตาวีรบุรุษ ซึ่งจัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์ต่าง ๆ ในช่วง พ.ศ. 2510-2550   บางเรื่องตีพิมพ์ซ้ำ 3-5 ครั้ง และโดดเด่นเป็นหนึ่งในยุทธจักรนิยายกำลังภายในเช่นกัน

เดือนมีนาคม พ.ศ. 2538  เมื่อพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 (ต่อไปจะเรียกว่า พ.ร.บ. 2537) มีผลบังคับใช้ ก่อเกิดกระแสความคิดแยกเป็น 2 แนว ต่องานแปลซึ่งจัดทำคำแปลและจัดพิมพ์จำหน่ายก่อน พ.ร.บ. 2537 มีผลบังคับใช้ คือ

  • แนวทางที่ 1 เห็นว่า งานแปลหนังสือแปลที่จัดทำขึ้นโดยไม่ได้ขออนุญาตเจ้าของลิขสิทธิ์ต่างประเทศ จะถือเป็นงานละเมิดลิขสิทธิ์ จัดพิมพ์จำหน่ายใหม่หลัง พ.ร.บ. 2537 มีผลบังคับใช้ไม่ได้

  • แนวทางที่ 2 เห็นว่า งานแปลหนังสือแปล แม้จัดทำขึ้นโดยไม่ได้ขออนุญาตเจ้าของลิขสิทธิ์ต่างประเทศ แต่ปฏิบัติตามเงื่อนไขพันธะกรณีที่ไทยเป็นภาคีอยู่กับอนุสัญญากรุงเบิร์นว่าด้วยการคุ้มครองงานวรรณกรรมและศิลปกรรม หรืออนุสัญญาเบิร์น ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองวรรณกรรมและศิลปกรรม พ.ศ. 2474 และพระราชกฤษฎีกากำหนดเงื่อนไขเพื่อคุ้มครองลิขสิทธิ์ระหว่างประเทศ พ.ศ. 2526 ซึ่งมีผลบังคับใช้ถึงวันที่ 1 กันยายน พ.ศ. 2538 ย่อมอยู่ในฐานะแปลโดยชอบด้วยกฎหมาย ก่อเกิดลิขสิทธิ์ในงานแปลโดยชอบตามกฎหมาย จึงสามารถใช้ลิขสิทธิ์ที่เกิดขึ้นนั้นจัดพิมพ์จำหน่ายใหม่ได้แม้หลัง พ.ร.บ. 2537 มีผลบังคับใช้

ในแวดวงนิยายกำลังภายใน โดยเฉพาะยุทธจักรนิยายจากผลงานโก้วเล้ง ความเห็นแย้งระหว่าง 2 แนวทางดังกล่าวเด่นชัดขึ้นเช่นกัน กระทั่งบริษัทมหาชนจำกัดแห่งหนึ่งตกลงทำสัญญาขออนุญาตใช้สิทธิ์การแปลแต่ผู้เดียวในประเทศไทย จากผู้ได้ชื่อว่าเป็นทายาทของโก้วเล้ง ติดตามมาด้วยข้อกล่าวหาว่า ผลงานแปลโดยนักแปลท่านอื่น สำนวนอื่น สำนักพิมพ์อื่นที่แปลจำหน่ายก่อน พ.ร.บ. 2537 มีผลบังคับใช้ เป็นงานละเมิดลิขสิทธิ์ กลายเป็นกรณีพิพาท เดือนมิถุนายน พ.ศ. 2546 มีการแถลงข่าวประกาศการได้มาซึ่งลิขสิทธิ์แต่ผู้เดียวโดยบริษัทมหาชนจำกัดแห่งนั้น ต่อเนื่องด้วย ระหว่างเดือนธันวาคม พ.ศ. 2546 ถึงเดือนมีนาคม พ.ศ. 2550 มีการลงโฆษณาประชาสัมพันธ์ในหนังสือพิมพ์ สยามกีฬา และหนังสือพิมพ์ สปอร์ตพูล ว่าจะดำเนินคดีทั้งทางแพ่งและอาญากับผู้ละเมิดลิขสิทธิ์อย่างถึงที่สุด กระทั่งปรากฏรูปธรรมชัดเจน เมื่อเดือนเมษายนและเดือนตุลาคม พ.ศ. 2550 ตัวแทนบริษัทมหาชนแห่งนั้นแจ้งคณะกรรมการสมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย ซึ่งเป็นผู้จัดงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ และงานมหกรรมหนังสือระดับชาติ ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ให้แจ้งต่อบริษัทสร้างสรรค์บุ๊คส์ จำกัด ในงานดังกล่าวหลายครั้งให้งดจำหน่ายหนังสือแปลโก้วเล้ง สำนวน ว. ณ เมืองลุง ต่อมาผู้จัดการฝ่ายการตลาดของบริษัทมหาชนจำกัดแห่งนั้นได้ทำจดหมายถึงร้านค้าหนังสือทั้งในกรุงเทพมหานครและต่างจังหวัด ขอความร่วมมืองดจำหน่ายหนังสือแปลสำนวน ว. ณ เมืองลุง และได้ส่งหนังสือบอกกล่าว (โนติ๊ส) ฉบับลงวันที่ 12 ตุลาคม พ.ศ. 2550 ถึงบริษัทสร้างสรรค์บุ๊คส์ จำกัด

หนังสือบอกกล่าวมีขึ้นอีกครั้ง คือ ฉบับลงวันที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553 กระทั่งวันที่ 29 มีนาคม พ.ศ. 2554 ทายาทของโก้วเล้งท่านหนึ่ง เป็นโจทก์ มอบอำนาจให้บริษัทมหาชนจำกัดแห่งนั้น ฟ้องบริษัทสร้างสรรค์บุ๊คส์ จำกัดเป็นจำเลยคดีแพ่งต่อศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง ฐานละเมิดลิขสิทธิ์บทประพันธ์ของโก้วเล้ง ให้จำเลยชำระหนี้แก่โจทก์เป็นเงิน 3,000,000.00 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี นับจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ ให้หยุดพิมพ์ หยุดเผยแพร่ และเก็บหนังสือพิพาทนั้นออกจากท้องตลาด ประกอบด้วย งานวรรณกรรมพิพาท 8 เรื่องคือ ฤทธิ์มีดสั้น ดาบจอมภพ เหยี่ยวเดือนเก้า จอมดาบหิมะแดง จอมโจรจอมใจ เซียวฮื้อยี้ ศึกเสือหยกขาว และนักสู้ผู้พิชิต อีกทั้งให้จำเลยชำระค่าฤชาธรรมเนียมและค่าทนายความในอัตราสูงแทนโจทก์ด้วย

เดือนมิถุนายน พ.ศ. 2554 จำเลยทำคำให้การและฟ้องแย้ง ว่าโจทก์โดยผู้รับมอบอำนาจโจทก์ ใช้สิทธิ์โดยไม่สุจริตในการโฆษณาและทำลายการตลาดวรรณกรรมแปลพิพาทของจำเลย เพราะวรรณกรรมในพิพาทเป็นผลงานแปลที่จัดทำขึ้นในช่วงที่กฎหมายละเมิดลิขสิทธิ์ในประเทศและระหว่างประเทศ ไม่ได้ห้ามแปล จึงถือว่า แปลโดยชอบด้วยกฎหมาย มีลิขสิทธิ์ในคำแปลโดยชอบตามกฎหมาย จึงใช้ลิขสิทธิ์คำแปลที่เกิดขึ้นทันทีเมื่อแปลแล้วเสร็จ จัดพิมพ์จำหน่ายได้ถึงปัจจุบันนั้น ขอให้โจทก์ชำระค่าเสียหายจากกำไรทางธุรกิจของจำเลยที่ลดลงและเป็นจริง เป็นเงินจำนวน 224,829.00 บาท และให้โจทก์ลงโฆษณาขอโทษจำเลยในหนังสือพิมพ์รายวัน และรายสัปดาห์รวม 5 ฉบับ

ในชั้นพิจารณา โจทก์ขอถอนฟ้องวรรณกรรมพิพาท 2 เรื่องคือ จอมโจรจอมใจ และนักสู้ผู้พิชิต โดยแจ้งต่อศาลว่าเนื่องจาก “โจทก์ไม่ได้รับโอนลิขสิทธิ์ 2 เรื่องดังกล่าว” วรรณกรรมพิพาทจึงลดลงเหลือ 6 เรื่อง

ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง มีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 29 สิงหาคม พ.ศ. 2555 ให้จำเลยคือบริษัทสร้างสรรค์บุ๊คส์ จำกัด ชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์เป็นเงิน 1,500,000.00 บาท พร้อมอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปีของเงินต้นจำนวนดังกล่าวนับแต่วันถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ ให้จำเลยหยุดพิมพ์และเผยแพร่งานวรรณกรรมพิพาท อันได้แก่นวนิยายจีนกำลังภายในจำนวน 6 เรื่อง คือ ฤทธิ์มีดสั้น ดาบจอมภพ เหยี่ยวเดือนเก้า จอมดาบหิมะแดง เซียวฮื้อยี้ และศึกเสือหยกขาว พร้อมทั้งให้เก็บงานวรรณกรรมดังกล่าวออกจากท้องตลาด หากไม่ปฏิบัติตาม ให้โจทก์มีสิทธิดำเนินการแทน โดยให้จำเลยรับผิดชอบชำระค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้น กับให้ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 50,000.00 บาท ฟ้องแย้งของจำเลยให้ยกเสีย ค่าฤชาธรรมเนียมในส่วนฟ้องแย้งระหว่างโจทก์กับจำเลยให้เป็นพับ

จำเลยยื่นอุทธรณ์ และยื่นคำร้องขอทุเลาการบังคับคดีเมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555

ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง อ่านคำพิพากษาศาลฎีกาแผนกทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ เมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม พ.ศ. 2560 โดยมีข้อสรุปว่า

"พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องและยกฟ้องแย้ง ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาล ทั้งในส่วนคำฟ้องและฟ้องแย้งให้เป็นพับ"

นับเนื่องเวลาแห่งการเริ่มต้นข้อขัดแย้ง กระทั่งมีคำพิพากษาศาลฎีกา เป็นเวลากว่า 14 ปี

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้