Last updated: 27 ธ.ค. 2564 | 19775 จำนวนผู้เข้าชม |
"สุชีโวภิกขุ" คือ นามฉายาของอาจารย์สุชีพ ปุญญานุภาพ เมื่อครั้งท่านอุปสมบทเป็นพระภิกษุ ณ วัดกันมาตุยาราม ชื่อเสียงของท่านโด่งดัง เป็นที่เคารพเลื่อมใสอย่างยิ่งยวดในหมู่คณะสงฆ์และพุทธศาสนิกชนเสมอมา จากผลงานการประพันธ์ทั้งในเชิงวิชาการและด้านวรรณกรรม เป็นที่ประจักษ์ถึงความรอบรู้ด้านพระพุทธศาสนาเป็นเลิศ และความสามารถในการเล่าพระธรรมอย่างยากที่จะมีใครทัดเทียมได้ มรดกงานวรรณกรรมอันล้ำค่านี้ ได้สร้างคุณูปการอันสำคัญยิ่งให้แก่บรรณพิภพไทย
ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 13 เมษายน พ.ศ. 2460 อาจารย์สุชีพ ปุญญานุภาพ กำเนิด ณ ตำบลบางไทรป่า อำเภอบางปลา (อำเภอบางเลนในปัจจุบัน) จังหวัดนครปฐม มีพี่น้องรวม 12 คน แต่เสียชีวิตตั้งแต่วัยเยาว์ไปถึง 11 คน เหลือท่านเพียงคนเดียว พ่อแม่จึงตั้งชื่อท่านว่า "บุญรอด"
เมื่ออายุราว 13 ปี หลังจากที่เรียนจบชั้นประถมปีที่ 5 ท่านได้บรรพชาเป็นสามเณรเพื่อศึกษาต่อในทางพุทธศาสนา ณ วัดสัมปทวน อำเภอนครชัยศรี จังหวัดนครปฐม จนสอบไล่นักธรรมและภาษาบาลี เปรียญธรรม 7 ประโยคได้ตั้งแต่ยังเป็นสามเณร ต่อมาท่านได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุ ณ วัดกันมาตุยาราม เมื่อ พ.ศ. 2480 และได้รับฉายาว่า "สุชีโวภิกขุ" หลังจากอุปสมบทได้ 2 พรรษา ก็สอบไล่เปรียญธรรม 9 ประโยคได้
ในขณะที่ท่านเป็นพระภิกษุ จำพรรษาอยู่ ณ วัดกันมาตุยารามนั้น นอกเหนือจากความรู้ภาษาบาลีอันแตกฉานแล้ว ท่านมีความชำนาญอื่น ๆ หลายวิชา อาทิ ภาษาอังกฤษ โหราศาสตร์ ดาราศาสตร์ ภาษาสันสกฤต และภาษาปรากฤต อีกทั้งท่านยังขวนขวายศึกษาวิชาสมัยใหม่อื่น ๆ จากตำราทั้งภาษาไทยและภาษาต่างประเทศด้วย ทำให้ท่านเป็นภิกษุหนุ่มที่มีความรู้ในวิชาการสมัยใหม่ โลกทัศน์กว้างไกล และมีวิธีการเทศนาสั่งสอนพระพุทธศาสนาในแนวใหม่ที่ทันสมัย เป็นที่นิยมชมชอบในหมู่พุทธศาสนิกชนทั่วประเทศ อีกทั้งเป็นพระภิกษุไทยรูปแรกที่บรรยายธรรมเป็นภาษาอังกฤษ
เมื่อท่านเห็นว่าความรู้ในวิชาการสมัยใหม่เป็นประโยชน์ต่อการสั่งสอนและเผยแผ่พระพุทธศาสนา ท่านจึงเริ่มถ่ายทอดวิชาเหล่านั้นแก่ภิกษุสามเณรที่วัดกันมาตุยาราม และริเริ่มประยุกต์พระพุทธศาสนาให้เข้ากับสังคมร่วมสมัย ซึ่งต่อมา พระเถรานุเถระจากคณะธรรมยุตได้ทราบเรื่อง และสนับสนุนเทคนิคการสอนของอาจารย์สุชีพ จนกระทั่งจัดตั้งขึ้นเป็นมหาวิทยาลัยสงฆ์แห่งแรกของประเทศไทย โดยใช้ชื่อว่า "สภาการศึกษามหามกุฎราชวิทยาลัย" ใน พ.ศ. 2488
บทบาทของอาจารย์สุชีพ ปุญญานุภาพนับว่าเป็นแรงผลักดันที่สำคัญในการริเริ่มสถาบันการศึกษาขั้นสูงของพระพุทธศาสนา หลังจากนั้น ท่านได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งเลขาธิการสภาการศึกษามหามกุฎฯ เป็นรูปแรก และเป็นผู้วางรากฐานด้านวิชาการและการบริหารให้แก่มหาวิทยาลัยจนกระทั่งลาสิกขา เมื่ออายุ 35 ปี ใน พ.ศ. 2495 รวมเวลาที่ท่านดำรงอยู่ในตำแหน่งเป็นเวลา 5 ปี
นอกเหนือจากก่อตั้งมหาวิทยาลัยสงฆ์ อาจารย์สุชีพยังมีผลงานที่โดดเด่นในด้านวิชาการทางพระพุทธศาสนาที่เป็นอมตะ คือ การจัดทำพระไตรปิฏกฉบับประชาชน ซึ่งเป็นการย่อความพระไตรปิฎกจำนวน 45 เล่ม ให้เหลือเพียง 5 เล่ม เพื่อให้ง่ายและสะดวกในการศึกษาพระธรรมเป็นภาษาไทยสำเร็จเป็นคนแรก นับว่าเป็นผลงานที่เป็นประโยชน์อย่างยิ่งสำหรับการศึกษาพระไตรปิฏกและพุทธศาสนาประเทศไทย
ในด้านวรรณกรรม อาจารย์สุชีพเป็นผู้ริเริ่มการแต่งนวนิยายอิงหลักธรรม อันได้แรงบันดาลใจมาจากเรื่อง “กามนิต” ที่ท่านได้อ่านเมื่อครั้งเป็นสามเณร โดยนวนิยายอิงหลักธรรมนี้ คือ นวนิยายที่อาศัยเรื่องราวจากพระพุทธประวัติ สอดแทรกการสั่งสอนหลักธรรม ทำให้ผู้อ่านได้รับอรรถรสทั้งในแง่วรรณกรรมและหลักธรรมะไปพร้อม ๆ กัน
ผลงานเรื่องแรกของท่าน คือเรื่อง “ใต้ร่มกาสาวพัสตร์” บอกเล่าเรื่องราวขององคุลิมาลกับพระพุทธเจ้า ตีพิมพ์ครั้งแรกในหนังสือธรรมจักษุ เมื่อ พ.ศ. 2494 ปรากฏว่าได้รับการตอบรับอย่างดีเยี่ยม และได้รับการขอร้องให้ประพันธ์อีกหลาย ๆ เรื่อง ต่อมาท่านจึงประพันธ์เรื่อง “กองทัพธรรม” บอกเล่าเรื่องของพระสารีบุตรกับพระธรรมเสนาบดี และเรื่อง “ลุ่มน้ำนัมมทา” “เชิงผาหิมพานต์” และ “นันทะ-ปชาบดี” ตามลำดับ โดยนวนิยายอิงหลักธรรมของอาจารย์สุชีพนี้ นับว่าเป็นการริเริ่มการเผยแผ่พุทธศาสนาในรูปแบบใหม่ รวมถึงทำให้เกิดนวนิยายแขนงใหม่ในวงการวรรณกรรมไทยซึ่งต่อมาเป็นที่นิยมของนักอ่านทั่วไป และส่งอิทธิพลต่อนักประพันธ์ให้ประพันธ์นวนิยายในแขนงเดียวกันนี้อีกหลายท่าน เช่น วศิน อินทสระ ทวี วรคุณ สุทัสสนา อ่อนค้อม เป็นต้น
หลังจากอาจารย์สุชีพลาสิกขา ท่านยังได้ดำรงตำแหน่งสำคัญในหน่วยงานราชการและรัฐวิสาหกิจ รวมถึงเป็นอาจารย์สอนและที่ปรึกษาในสภาการศึกษามหามกุฎราชวิทยาลัย และในมหาวิทยาลัยต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง จนกระทั่งถึงแก่กรรมในวันที่ 4 พฤษภาคม พ.ศ. 2543 เวลา 15.51 น. สิริรวมอายุ 83 ปี 21 วัน
ด้วยผลงานที่ได้กล่าวมา ผนวกกับอุปนิสัยส่วนตัวที่อ่อนน้อม มีเมตตากรุณา และตั้งมั่นอยู่ในพระธรรมคำสอน ทำให้อาจารย์สุชีพเป็นที่รักและเคารพยิ่งของศิษย์ ตลอดจนพุทธศาสนิกชนทั่วประเทศมาจนถึงปัจจุบัน
...................................................................
เนื้อหาอ้างอิงจาก
ptipitaka.org/aj_sucheep_profile
posttoday.com/life/healthy/576105
dharma-gateway.com/ubasok/ubasok_hist/ubasok-sucheep.htm
jiab007.wordpress.com/2011/04/01
gotoknow.org/posts/616907
รูปภาพจากบทความ ชีวประวัติ อาจารย์สุชีพ ปุญญานุภาพ ผู้ริเริ่ม “พระไตรปิฎกฉบับประชาชน” โดย มูลนิธิพระไตรปิฎกเพื่อประชาชน
21 พ.ย. 2563
21 ส.ค. 2564